17.02.2016
“บริษัทเรากำลังดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กรครับ”
“หมายถึงเราจะรับคนเพิ่มเหรอคะพี่ ดีเลย หนูจะชวนเพื่อนมาสมัคร นี่หนูทำงานเหนื่อยมากเลย เอาคนมาเพิ่มนะคะพี่ หนูจะได้มีเวลาพัก”
“งั้นหนูไปพักได้เลยครับ เพราะปรับโครงสร้างองค์กรของพี่คือลดจำนวนพนักงานครับ”
เมื่อไหร่ที่ได้ยินคำว่า “ปรับโครงสร้างองค์กร” เตรียมหนาว ๆ ร้อน ๆ ได้เลย เพราะคำว่าปรับโครงสร้างองค์กร เป็นคำยอดฮิตตอนที่องค์กรเกิดวิกฤต องค์กรเกิดวิกฤตก็ต้องแก้วิกฤต
เอาคนออก ก็เป็นวิธีแก้วิกฤตทางนึงนะครับ หึหึหึ
ในหนังสือคบเด็กสร้างแบรนด์ มีอยู่ช่วงนึงที่มหาวิทยาลัยรังสิตจำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานลงเพื่อแก้วิกฤต หลังจากที่พยายามทำนู้นทำนี่เพื่อลด cost มาหลายวิธีการแล้ว แต่ต้นตอปัญหาคือ คนล้นงาน
“ไม่มีวิธีการอื่นแล้วเหรอ รัดเข็มขัดกันแน่น ๆ ต่อไป โดยไม่ลดคนไม่ได้ เหรอ” คำถามของผู้บริหารในเวลานั้น
“เราต้องเสียสละส่วนน้อย เพื่อรักษาส่วนใหญ่ ถ้าไม่ทำ เราก็จะตายกันทั้งยวง” นี่คือคำตอบครับ
เป็นสถานการณ์ชวนลำบากใจจริง ๆ นะ ทั้งตัวพนักงานเอง ทั้งผู้บริหาร ทั้ง HR
“เสียใจด้วยครับ คุณไม่ได้ไปต่อ”
ผู้บริหารคงอยากพูดแบบนี้กับกลุ่มที่ผลงานไม่เป็นโล้เป็นพาย แถมทัศนคติกับองค์กรก็ไม่ดีซะด้วย ถ้าให้อยู่ต่อก็ไม่ชัวร์ว่าจะอยู่ช่วย หรืออยู่แล้วสร้างปัญหาเพิ่ม
“อยู่ต่อเลยได้ไหม อย่าปล่อยให้ตัวฉันไป”
อันนี้เอาไว้พูดกับหัวกะทิ คนเก่งที่เราคาดหวังว่าถ้าเค้าอยู่ องค์กรเรารอดแน่นอน
แต่พอมี Early Retire Package ให้ปั๊บ กลับกันสิ คนเก่งขอไป คนอยากให้ไปเงียบกริ๊บ เจอแบบนี้เข้าไปปัญหายิ่งหนักไปกว่าเดิมอีกนะครับ
อย่างเคสของมหาวิทยาลัยรังสิตก็เหมือนกัน คนที่มาขอไปก็ดันเป็นคนเก่ง ทีนี้ต้องคิดใหม่ทำใหม่สิ
ประเมินผลงานกันออกมาเลย ว่า คนที่ไม่ดีจริง ๆ ก็คงขอให้ไป มหาวิทยาลัยก็จ่ายเงินชดเชยให้ตามกฎหมาย คนที่ยอมรับความจริง ยอมรับในผลประเมิน ก็ยอมไปแต่โดยดี แต่คนที่มองว่าผลประเมินไม่เป็นธรรม เลิกจ้างไม่เป็นธรรม ก็ต้องไปฟ้องร้องกันตามกฎหมาย ถูกผิดก็ว่ากันไปตามที่ศาลจะตัดสิน
ตรงนี้เป็นประเด็นสำหรับผู้บริหารและ HR นะครับ ถ้าต้องเจอสถานการณ์แบบนี้ การประเมินต้องโปร่งใสจริง ๆ หลักฐานชัดเจน และประเมินอย่างเป็นธรรมจริง ๆ อย่าคิดแค่ว่าจะตัดค่าใช้จ่าย ลดคน ลดต้นทุน โดนฟ้องขึ้นมา เท่ากับว่าเราเปิดศึกอีกด้านเลยนะครับ
สำหรับผม ฝั่งคนไปไ ม่น่าสนใจเท่าคนอยู่ เรารู้อยู่แล้วนี่ว่าต้องสู้กับวิกฤต เหนื่อยกว่าเดิมแน่นอน งานยากกว่าเดิมแน่นอน คนที่ยังอยู่ยังสู้ไม่ไปไหน ผมยอมใจจริง ๆ ดีใจแทนมหาวิทยาลัยรังสิตที่มีพนักงานเลือดนักสู้ เลือดรังสิตที่เข้มข้น พร้อมที่เหนื่อยจะสู้ไปด้วยกันกับองค์กร
และผมว่าสิ่งที่กระตุ้นให้พนักงานสู้ต่อมากที่สุด ก็คือแม่ทัพ
ถ้าแม่ทัพไม่มีภาวะผู้นำที่เจ๋งจริง เป็นหัวหน้าที่สร้างศรัทธาให้กับลูกน้องไม่ได้ ถึงจะจ้างแพงแค่ไหน ใจคนก็คงไม่อยากช่วยหรอกครับ จริงมั้ย
#คบเด็กสร้างแบรนด์ #HRTheNextGen
ตามไปอ่านต่อได้ทางนี้ครับ
http://www2.rsu.ac.th/kobdeksangbrand/